![]() |
||
ฉบับ ประจำเดือน กันยายน 2549 ในแวดวงการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ พวกเรามีที่ประชุมที่เรียกว่า ที่ประชุมสถาบันการศึกษาที่มีการสอนทางสาธารณสุขศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือพูดให้ง่ายเข้าก็คือ ที่ประชุมคณบดีนั่นเอง เรียกว่าระดับผู้บริหารของคณะที่เปิดสอนด้านสาธารณสุขศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องจะมาประชุมกันประมาณ 3 เดือนครั้ง เพื่อปรึกษาหารือทั้งด้านวิชาการและด้านการบริหาร ที่จะร่วมมือกันระหว่างคณะในการพัฒนาเรื่องการเรียนการสอนทางสาธารณสุขศาสตร์ อันจะส่งผลให้บัณฑิตที่ผลิตออกไปเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในฐานะหน่วยงานระดับคณะ ก็จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมดังกล่าว เรื่องที่จะคุยกันก็มีหลายเรื่อง แต่ที่จะเล่าให้ฟังก็มี 2 เรื่องนะครับ เรื่องแรก ก็เป็นเรื่องการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตและมหาบัณฑิต ซึ่งทุกคณะได้มาร่วมกันทำประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว มาถึงเวลานี้หน้าตามาตรฐานหลักสูตรทั้ง 2 ระดับ ก็เรียกว่าเกือบสมบูรณ์ 100% แล้ว รอตบแต่งและตัดสินใจในรายละเอียดอีกเล็กน้อย เข้าใจว่าประชุมครั้งต่อไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กลางเดือนมกราคม 2550 ) ทุกอย่างคงเรียบร้อย และประเด็นที่ต้องคุยกันต่อก็คือ เรื่องของการตรวจประเมินเพื่อการรับรอง เบื้องต้นได้คุยกันมาแล้วว่า ทีมตรวจประเมินควรประกอบด้วยตัวแทนจากคณะ องค์กรวิชาชีพ และผู้ใช้บัณฑิต/ มหาบัณฑิต ที่มาจากภาครัฐและภาคเอกชน ว่าไปแล้วก็ดูดีในเชิงความคิด แต่ในทางปฏิบัติต้องพิจารณาถึงความพร้อมทั้งทางเทคนิคการตรวจประเมิน และการบริหารจัดการ (และแน่นอนว่างบประมาณจะมาจากไหน) ในส่วนตัวผมเอง คิดว่าต้องพิจารณาไปถึงประเด็นที่ สมศ.ก็จะทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ดังนั้น จะประสานงานเรื่องนี้กันอย่างไร มิฉะนั้น แต่ละคณะก็จะถูกตรวจประเมินกันบ่อยเกินไปหรือไม่ อีกเรื่อง ก็เป็นการพิจารณาถึงบทบาทของที่ประชุมผู้บริหารฯ ที่จะเป็นที่พึ่งของสังคม ว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง มิฉะนั้น ที่ประชุมนี้ก็จะกลายเป็นเวทีของพวก NATO (No Action, Talk Only.) ไป ทางสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพจะเสนอเรื่อง การมีบทบาทที่จะเสนอแนะทางออกต่างๆ ในเรื่องสำคัญๆ ทางด้านสาธารณสุข ยกตัวอย่างเช่น ในฐานะคณะที่สอนด้านการป้องกัน จะมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในเรื่องนโยบายสุขภาพ นโยบายสิ่งแวดล้อม นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ฯลฯ อะไรบ้าง หรือกรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น ไข้หวัดนกระบาด โรงงานระเบิด ฯลฯ เราจะมีข้อเสนอเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้อย่างไร สำหรับจุลสาร วส. ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ก็มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง อ่านแล้วมีข้อเสนอแนะอะไร ก็เสนอแนะมาด้วยนะครับ หรือจะส่งเรื่องมาลงเพื่อช่วยกันเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ ก็ยินดีมากครับ
ขอบคุณครับ รองศาสตราจารย์สราวุธ สุธรรมาสา | ||